อลังการ สง่างาม วังสราญรมย์

Monday, March 31, 2008

วังสราญรมย์ ซึ่งคนไทยใน พ.ศ.นี้ ต่างรู้จักคุ้นเคยกันในฐานะที่เคยเป็นอาคารที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศมานานหลายสิบปี นับเป็นสถานที่ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจยิ่งและจัดเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญที่มีความงดงามอลังการในระดับเยี่ยมยอดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
วังสราญรมย์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2409 ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชดำริที่จะใช้เป็นที่ประทับภายหลังจากทรงสละราชสมบัติแก่ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรส ซึ่งบริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างนี้อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดราชประดิษฐ์ โปรดฯ ให้เจ้าพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง) เป็นผู้ดูแลงานก่อสร้าง พระราชทานนามว่า ?สราญรมย์? แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
การก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชประสงค์จะพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับของเจ้านายเมื่อแรกออกจากวังก่อนที่วังประทับถาวรจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ต่อมาภายหลัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมและตกแต่งวังสราญรมย์เพื่อใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่วังสราญรมย์ได้รับหน้าที่เป็น ?บ้านพักรับรอง? ของพระราชอาคันตุกะสำคัญ อาทิ เจ้าชายแห่งญี่ปุ่น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งรุสเซีย เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวังสราญรมย์ อันทำให้สถานที่นี้กลายมาเป็นที่ทำการกระทรวงแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ เกิดขึ้นเมื่อ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2428 ได้กราบบังคมทูลพระประสงค์ขอมีที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นโดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ ในปีนั้นเอง
กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการอยู่ ณ วังสราญรมย์ได้ราว 2 ปี ก็ได้ย้ายไปทำการที่ตึกราชวัลลภในพระบรมมหาราชวัง ส่วนวังสราญรมย์นั้น ก็ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นบ้านพักรับรองพระราชอาคันตุกะอีกครั้งหนึ่งเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตึกราชวัลลภชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสราญรมย์ให้กลับมาเป็นที่ทำการถาวรของกระทรวงการต่างประเทศดังเดิม


วังสราญรมย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ออกแบบโดย เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ลักษณะอาคารดั้งเดิมนั้น มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรบรรยายไว้โดยเจ้าชายออสการ์ พระราชอาคันตุกะพระองค์แรกที่เข้ามาประทับใน พ.ศ. 2427 ว่า
?วังสราญรมยา ซึ่งเป็นบ้านของพวกเรานี้ เป็นตึกแบบตะวันออก มีลานกว้างอยู่หลายแห่ง พื้นเป็นหินอ่อน มีเสาเรียงเป็นแถว บริวารของเราอยู่ตามห้องซึ่งจะมองลงมาข้างล่างเห็นเป็นชาลาโล่ง รอบชาลาเป็นระเบียงมีหลังคาคลุม แบ่งออกเป็นสี่ตอน เพราะมีระเบียงอื่นตัดผ่าน เราจึงได้อยู่รวมกันในที่แห่งเดียวกันนี้ และอาจมาพบปะกันได้ตามระเบียงที่ร่มเย็นสบาย ซึ่งเขาจัดวางเก้าอี้ไว้ให้ หรือไม่ก็ไปพบกันในห้องบิลเลียด?บริเวณ ?วังของเรา? ตามที่เราเรียกกันนี้ มีอุทยานงามแปลกตา มีที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น กวาง ลิง เสือดำตัวหนึ่ง กับสัตว์สี่เท้าอื่นๆ รวมทั้งนกด้วย?
วังแห่งนี้ เคยได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2441 โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งปีมี นายคาร์โล อาแลกรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง โดยกรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการ โดยด้านหน้าของวังซึ่งเป็นส่วนที่ทำขึ้นใหม่ในครั้งนั้น ประกอบด้วยมุข 3 ด้าน ที่หน้าจั่วกลางซึ่งเป็นทางเข้าออกหลักมีตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประกอบไปด้วย พระมหามงกุฏ แวดล้อมด้วยเบญจปฎลเศวตฉัตร 1 คู่ อยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นตราไอยราพต (ช้าง 3 เศียร) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4 อันมีความหมายถึงพระราชอาณาจักร ส่วนล่างสุดเป็นราชสีห์และคชสีห์
มุขอีกสองด้านซึ่งเป็นปีกอาคารด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นจั่วรูปสามเหลี่ยม มีตราพระเกี้ยวอยู่ตรงกลาง มุขทั้งสามนี้ชั้นบน ทำเป็นระเบียง มีเสารับหน้าบัน
ภายในตัวอาคารมีสนามตรงกลาง มีประติมากรรมประกอบน้ำพุซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งเริ่มสร้าง ทางเดินชั้นบนเป็นระเบียงยาวเดินได้ตลอด ชั้นล่างมีคูหาเป็นช่อง มีประดับลายฉลุไม้ที่ชายคา
ภายในวังสราญรมย์ประกอบด้วยห้องซึ่งมีความงดงามอลังการอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชั้นบนซึ่งเคยใช้เป็นห้องพักของพระราชอาคันตุกะหรือที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์มาก่อน
ห้องที่เปรียบเสมือน ท้องพระโรง ของวังสราญรมย์ ใช้เป็นห้องสำหรับลงนามในสนธิสัญญาสำคัญต่างๆ ที่หน้าห้องมี ?ประตูบัวแก้ว? เป็นบานประตูไม้สัก 4 ชิ้น ส่วนบนเป็นรูปโค้ง มีลายแกะสลักฉลุสีทองเป็นตราบัวแก้วใหญ่ ตราบัวแก้วน้อยและดอกบัวหลวง
ห้องเทววงศ์ อยู่ถัดจากท้องพระโรง ขนานนามไว้เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบิดาแห่งการทูตไทย ภายในห้องมีภาพเขียนเก่าของอิตาลีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อกลับมาเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2
ห้องไตรทศ ขนานนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย พระโอรสในกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสืบจากพระบิดาเมื่อ พ.ศ. 2466 เดิมเคยใช้เป็นห้องทำงานของปลัดทูลฉลอง และต่อมาได้ใช้เป็นห้องรับรองและห้องประชุมของกระทรวงฯ
ความงดงามแห่งศิลปสถาปัตยกรรมที่เลิศล้ำของแผ่นดินชิ้นนี้ เป็นเสมือนจารึกแห่งอดีตที่จะคงอยู่และสืบทอดต่อเนื่องไปภายหน้า เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าหน้าสำคัญของสยามประเทศสู่ชาวไทยรุ่นลูกรุ่นหลานในวันนี้และวันข้างหน้า