สรุปการบรรยายเรื่อง “ที่ว่างของผู้ชายขายตัว”

Saturday, June 14, 2008



เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดการบรรยายเรื่อง “ที่ว่างของผู้ชายขายตัว” (Spaces of Male Prostitution: Identity Politics, Objectification and the Constitution of Subjectivity) โดยมี อ.สันต์ สุวัจฉราภินันท์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรอ.สันต์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมจาก ม.ศิลปากร และจบปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ University of London เนื้อหาที่นำเสนอในการบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์สาขาสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์และทฤษฎีการออกแบบ ที่ อ.สันต์ กำลังดำเนินการอยู่ วิทยานิพนธ์เรื่อง “ที่ว่างของผู้ชายขายตัว” ศึกษากลุ่ม “ผู้ชายขายตัว” (male prostitute) โดยเก็บข้อมูลจากวังสราญรมย์ และบาร์อะโกโก้ในกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง ประเด็นศึกษาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรม คน พื้นที่ และที่ว่าง (ในที่นี้ อ.สันต์ ใช้คำว่า “พื้นที่” โดยมีนัยถึงพื้นที่เดิมที่ถูกควบคุม ตรวจสอบจากกรอบกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานของสังคม และใช้คำว่า “ที่ว่าง” โดยมีนัยถึง “พื้นที่ใหม่” ที่เกิดจากการต่อต้านและแหวกคอก เป็นผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ใหม่)


“ชายขายตัว” ในที่นี้ หมายถึงเอกลักษณ์ (identity) ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกสร้างหรือสวมให้โดยสังคมหรือคนอื่น โดยเอกลักษณ์ของ “ชายขายตัว” ที่เราคุ้นเคยกันคือ มีพฤติกรรมทางเพศคล้ายคลึงกับกลุ่มเกย์ คือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน เนื่องจากวาทกรรมหลักที่ผูกโยงอยู่กับ “ชายขายตัว” คือวาทกรรมเกี่ยวกับการประพฤติผิดทางเพศ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่มีผลต่อการใช้พื้นที่โดยตรง กล่าวคือ พื้นที่ใดที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ “ชายขายตัว” ใช้ทำมาหากิน พื้นที่นั้นก็จะกลายเป็นจุดด่างดำ เป็นมุมมืดที่ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยง ดังนั้น “ชายขายตัว” จึงเป็นเสมือนผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ โดยเป็นผลผลิตที่เกิดจากการคัดออก กีดกัน และจำกัดวงของระบบคุณค่า บรรทัดฐาน และกฎเกณฑ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวิธีคิดของกลุ่มคนรักต่างเพศ คำถามที่ อ.สันต์สนใจก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกลุ่มคนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม นอกเหนือกฎเกณฑ์ของสังคม หรืออยู่บริเวณชายขอบของสังคมได้เข้ามาใช้พื้นที่? ลักษณะการใช้พื้นที่ของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร? การใช้พื้นที่ของกลุ่มคนนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายของ “พื้นที่” ไปสู่ “ที่ว่าง” อย่างไร? และการใช้พื้นที่นั้นสัมพันธ์กับเอกลักษณ์เดิม กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ และการแสดงออกของตัวตนอย่างไร?
ทั้งนี้ อ.สันต์ย้ำว่า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ไม่ได้ต้องการที่จะพิจารณาหรือตัดสินว่า “ชายขายตัว” นั้นถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า “ผิดหรือถูกอย่างไร” “อะไรทำให้ผิดหรือถูก” ในแง่หนึ่งจึงเป็นการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาหรือตัดสินคุณค่าของสังคมทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน วิทยานิพนธ์นี้ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเรียกร้องให้ “ชายขายตัว” เป็นอาชีพที่พึงประสงค์ หรือชักชวนให้ผู้คนมาเป็นเกย์มากขึ้น ทว่าเป็นการมอง เรียนรู้ และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในสังคมวิทยานิพนธ์นี้ใช้วิธีการศึกษาโดยการทำงานภาคสนาม เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่และการสื่อสารระหว่างชายขายบริการกับผู้ซื้อบริการ เช่น วิธีการยืน การมอง การแต่งตัว การใช้ร่างกาย ฯลฯ โดยจะมีกรณีศึกษา 3 กลุ่ม หลัก คือ 1) กลุ่มผู้ชายขายบริการข้างถนน หรือ “ผู้ชายป้ายเหลือง” กับผู้ซื้อบริการที่มากับรถยนต์ บริเวณสนามหลวงและวังสราญรมย์ 2) ผู้ชายในบาร์เกย์ ย่านสุริวงศ์ และ 3) พื้นที่เสมือน เช่น ในนิตยสาร จดหมายข่าว (แต่ในการนำเสนอครั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มที่ 3) นอกจากนี้ ยังศึกษาคู่ความสัมพันธ์ระหว่างเกย์กับผู้ชายขายบริการในบริเวณสนามหลวงและสวนสราญรมย์ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายขายบริการในบาร์เกย์กับเจ้าของบาร์ อ.สันต์ สนใจศึกษาว่า ผู้ชายขายบริการกลุ่มที่ยืนข้างถนน หรือที่เรียกว่า “ผู้ชายป้ายเหลือง” มายืนอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร ทำไมพวกเขาจึงเลือกพื้นที่ตรงนั้น โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในสถานที่ที่จัดไว้เฉพาะอย่างบาร์เกย์ แนวคิด-ทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แนวคิดเรื่องอำนาจ/ความรู้ของมิเชล ฟูโกต์, แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ (subject-object relations) ของสำนักโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม โดยเฉพาะในสายเฟมินิสต์และ Queer Theory เช่น ทฤษฎี Performativity ของจูดิธ บัทเลอร์ (Judith Butler) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศผ่านการใช้และการแสดงออกทางร่างกาย นอกจากนี้ยังใช้ทฤษฎี Spatial practices ของมิเชล เดอร์ แชร์โต (Michel de Certeau) ซึ่งสนใจคุณค่า/ความหมายของการกระทำที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ถูกกระทำจากกฎเกณฑ์ของพื้นที่หนึ่งๆ และการใช้เทคนิค ยุทธวิธีต่างๆ เพื่อปรับกฎเกณฑ์หรือความหมายของพื้นที่นั้นให้กลายเป็น “ที่ว่าง” เพื่อใส่ความหมายใหม่ลงไป



เนื่องจากวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผลการศึกษาที่นำเสนอในที่นี้จึงเป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้ 1) กลุ่ม “ผู้ชายขายบริการ” ข้างถนน อ.สันต์เริ่มเก็บข้อมูลกลุ่มนี้ในปี 2002 และเก็บอีกครั้งในปี 2004 โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ผลจากการศึกษาพบว่า วิธีการขับรถของผู้ซื้อบริการนั้นเป็นวิธีใช้พื้นที่สาธารณะอย่างหนึ่ง ที่เอื้อให้เกิดการซ่อนเร้น เคลื่อนตัวไปในสังคมโดยไม่ถูกจับผิดได้ ทั้งเดินทางเคลื่อนที่และจับจ้องมองในเวลาเดียวกัน (driving as crushing) นอกจากนี้ รถยนต์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชนชั้นทางสังคมอย่างหนึ่ง สูงกว่าคนเดินถนน ทั้งยังเอื้อให้เกิดการซ่อนเร้นทางสายตา ไม่ถูกมองเห็น ส่วนผู้ขายบริการก็ใช้ป้ายรถเมล์ในการซ่อนตัว นั่งเหมือนรอรถเมล์ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะไปไหน แม้รถเมล์จะผ่านไปหลายคันแล้วก็ตาม มีการใช้มุมมืด/แสงกระทบจากไฟป้ายโฆษณาเพื่ออำพรางใบหน้า ทำให้ผู้ที่ตั้งใจมาซื้อบริการต้องชะลอรถหยุดมองนานกว่าปกติ ซึ่งก็จะเป็นการเปิดเปลือกผู้ขับรถคันนั้นว่าต้องการจะมาซื้อบริการ บางคนก็ใช้วิธียืนในตำแหน่งหัวมุมโค้งของถนน เพื่อบังคับให้ผู้ที่ต้องการซื้อบริการต้องชะลอรถ บางคนก็ใช้มุมมืดของต้นไม้ ในกลุ่มผู้ขายบริการเอง ก็มีการจัดพื้นที่กันระหว่างหน้าเก่ากับหน้าใหม่ ว่าใครจะยืนตรงไหน รวมถึงการแบ่งแยกพื้นที่ตามรสนิยมทางเพศ เช่น พวกชอบรุกอย่างเดียว หรือ “ชายทั้งแท่ง” จะกล้ายืนในที่สว่าง โดยไม่สนใจว่าจะถูกมองอย่างไร เพราะเขาเป็นฝ่ายกระทำอย่างเดียว ในขณะที่พวกที่ได้ทั้งรุกทั้งรับนั้นมักจะยืนแบบซ่อนๆ อยู่บ้าง ส่วนพวกที่ชอบรับอย่างเดียวหรือพวกที่ “ออกสาว” ก็จะยืนในที่ที่มืดที่สุด เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำ และถูกจับตามากที่สุดว่ามีพฤติกรรม “ผิดธรรมชาติ” 2) กลุ่มผู้ชายขายบริการในบาร์เกย์ อ.สันต์ได้ศึกษากลุ่มผู้ชายขายบริการที่ทำงานในบาร์เกย์ย่านสุริวงศ์จำนวน 5 แห่ง บาร์เกย์นั้นเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดไว้เพื่อการซื้อขายบริการโดยเฉพาะ มีการตกแต่งพื้นที่ที่แสดงนัยของความเป็นบาร์เกย์อย่างชัดเจน ในกรณีนี้ แรงกระทำที่กระทำต่อชายขายบริการ คือ ธุรกิจสถานบันเทิงระหว่างย่านสุริวงศ์กับพัฒน์พงศ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย (ในกรณีของพัฒนพงศ์นั้น ถือว่าเป็นย่านสถานบริการ “รักต่างเพศ” ที่ใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง) ผลจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ผู้ซื้อบริการซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาตินั้น มักมีตำแหน่งทางสังคมหรือชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่าผู้ขายบริการ ทั้งนี้ เจ้าของสถานบริการค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับคนต่างชาติมากกว่าคนไทย ทำให้ผู้ซื้อบริการที่เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งไม่พอใจและแยกตัวออกไปตั้งสถานบริการแถวสีลมแทน สิ่งที่น่าสนใจในบาร์เกย์ย่านสุริวงศ์ก็คือ เจ้าของสถานบริการจะออกกฎห้ามไม่ให้ผู้ชายขายบริการแต่งหน้าทาปาก แม้จะเป็นเกย์ที่ “ออกสาว” ก็ตาม เพราะต้องการขายความเป็นชาย กฎดังกล่าวแสดงถึงการใช้อำนาจควบคุมบังคับร่างกายของผู้ขายบริการนอกจากนี้ เนื่องจากพื้นที่เดิมของบาร์ย่านสุริวงศ์เป็นห้องแถว บาร์บางแห่งจึงได้จัดพื้นที่ใหม่ทั้งหมด เพื่อทำให้ผู้ชายขายบริการกลายเป็น “วัตถุ” แห่งการจับจ้องอย่างชัดเจน การจัดพื้นที่ที่จะกระตุ้นให้ผู้มาเที่ยวต้องการซื้อบริการจากเด็กผู้ชายมากที่สุดก็คือ จัดพื้นที่ให้มีการมองเห็นมากที่สุด โดยใช้เวทีและแสงสีประกอบ (สีแดงเน้นผิวพรรณให้ผุดผ่อง แสงแบ็คไลท์สีม่วงๆ จะสะท้อนบิกินนี่สีขาวให้ผุดผ่อง ทำให้ผิวดูไร้จุดด่างดำ เป็นต้น) บาร์บางแห่งมีการติดกระจก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขายบริการที่กำลังขึ้นโชว์นั้นหลุดไปอยู่ในโลกของตัวเอง ทำให้ลืมความอาย ความตื่นตระหนกที่เกิดจากสายตาคนมองได้ กล่าวโดยสรุป “ที่ว่างของผู้ชายขายตัว” เป็นการเรียนรู้เรื่องราวบนฐานของความเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของอำนาจ แต่แนวคิดโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมนั้นมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำไม่ได้ตายตัว ผู้ชายขายตัวจึงสามารถเป็นได้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีทั้งการครอบครองและการต่อรองอำนาจ สถาปัตยกรรมเองเช่นกัน ที่สามารถเป็นได้ทั้ง “พื้นที่” และ “ที่ว่าง” ที่มีการกระทำและการถูกกระทำ



ที่มา http://av.sac.or.th/Subdetail/seminar/sum_of_seminar/seminar64.html








0 comments:

Blog Archive