‘จัดระเบียบสนามหลวง’ ใครจะอยู่ ใครจะไป?

Sunday, September 6, 2009

"...อยากจะทำสนามหลวงให้เป็นตลาดดอกไม้ เหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งแต่ละวันเขาขายดอกไม้กันวันละล้านดอก…"

ถ้อยคำของรองผู้ว่าฯ กทม. ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นโยบายจัดระเบียบสนามหลวงของ กทม. ยุค 'คุณชาย' เป็น 'พ่อเมือง' นี้ ช่างชวนฝันเสียเหลือเกิน พาให้วาดภาพถึงทุ่งดอกกุหลาบหลากสี เบญจมาศหลากพันธุ์ บานสะพรั่ง ผู้คนมากหน้าซื้อหาดอกไม้กันละลานตา ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงๆ ฝูงนกพิราบนับร้อย และขยะกลาดเกลื่อน ยังไม่นับพ่อค้าแม่ขายแผงลอยแบกะดิน สารพัดรถเข็น คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน รวมถึงสาวๆ ใต้ต้นมะขาม ที่รอลูกค้าตระเวน 'ซื้อ' ในยามดึกดื่นค่อนคืนอีกเล่า คนเหล่านี้ จะถูกจัดการด้วยมาตรการใด? เอาล่ะสิ! สวนสาธารณะของชนทุกชั้น กำลังจะถูก 'จัดระเบียบ' เข้าให้แล้ว





























จัดระเบียบ 'สนามหลวง' ฝันนี้ เพื่อใคร?

ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์เต็มแล้ว สำหรับกำหนดการ 'ดีเดย์' จัดระเบียบพื้นที่สนามหลวง ที่คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เคยแถลงไว้อย่างขึงขังว่า เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ จึงต้องกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าการจับ-ปรับผู้ที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ศ. 2535 ทั้งจะร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อจัดทำบันทึกประวัติและคัดกรองคนเร่ร่อน ไร้ที่อยู่ เพื่อหาแนวทางส่งกลับภูมิลำเนาหรือสถานสงเคราะห์อื่นๆ

ต่อเนื่องไปถึง การรณรงค์พัฒนาความสะอาด จัดระเบียบพื้นที่ ตัดแต่งต้นไม้ รวมถึงความพยายามที่จะย้ายตลาดดอกไม้ จากปากคลองตลาด มาไว้ที่สนามหลวง เพื่อทัศนียภาพเจริญตาเจริญใจ

แม้ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โต เกินกว่าจะทำได้จริง แต่เสียงจากกทม. ยืนยันว่า นโยบายดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดังที่ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร อธิบายว่า

"จากการหารือ มีคนเสนอว่าอยากจะทำสนามหลวงให้เป็นตลาดดอกไม้ เหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งแต่ละวันเขาขายดอกไม้กันวันละล้านดอก ผมจึงเล็งเห็นว่าบริเวณปากคลองตลาดซึ่งเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพ่อค้าแม่ค้าจำนวนไม่น้อยที่ขายดอกไม้ล้ำเส้นลงมาบนถนน การจัดพื้นที่บริเวณณสนามหลวงไว้โซนหนึ่งเพื่อให้ขายดอกไม้จึงเป็นเรื่องที่น่าทำไม่น้อย ซึ่งอาจจะเป็นเวลารุ่งสาวหรือใกล้ค่ำก็ได้"
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงการแปลงโฉมสนามหลวง บริบทที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้เลยก็คือ วิถีชีวิตของผู้คนที่ทำมาหากิน รวมทั้งอาศัยหลับนอนอยู่รายรอบสนามหลวง ซึ่งรองผู้ว่าฯ ได้ขยายความถึงมาตรการที่จะรองรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ว่า จะจัดระเบียบคนเร่ร่อนออกจากพื้นที่สนามหลวง โดยหาที่อยู่อาศัยให้ ส่วนคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขก็รับไปดูแล
ต่อเมื่อจัดการปัญหาคนเร่รอน คนจรจัด หรือแม้กระทั่งคนค้าประเวณีออกจากสนามหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดร. ธีระชน ได้บอกกล่าวถึงนโยบายในฝันของกรุงเทพมหานครว่า คือการเตรียมเนรมิตให้พื้นที่สนามหลวงมีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยยึดหลักคล้ายๆกับหน้าพระราชวังแวร์ซายส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
.................


โปรดระมัดระวัง 'พื้นที่สาธารณะ'

แน่ล่ะ ย่อมไม่มีใครปฏิเสธ ว่าทัศนียภาพอันสวยงาม รอบท้องสนามหลวงนั้น เป็นภาพที่ประชาชนคนไทย หรือแม้แต่ชาวต่างชาติคนไหนๆ ที่แวะเวียนผ่านมา ล้วนอยากเห็นเพื่อความเจริญตาเจริญใจ

ทว่า ความเป็นจริง มักต่างจากความฝัน ท้องสนามหลวงก็เช่นกัน แม้ในนโยบายวาดฝันมุ่งหวังให้เกิดการจัดระเบียบ มีความเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน ทั้งยังกำหนด วางแผนให้มีตลาดดอกไม้ขนาดใหญ่เกิดขึ้นในอนาคต เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำเนินการได้ทันที โดยไม่รับฟังเสียงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แห่งนี้มาเนิ่นนาน

มิใช่เพียงคนจร ผู้ค้าประเวณี หรือเด็กวัยรุ่นค้ายาเสพติด ที่ฝากชีวิต กินอยู่หลับนอน ทว่า ท้องสนามหลวง ยังเปรียบเสมือน สัญลักษณ์ บางอย่าง ที่บ่งบอกว่า 'ชนทุกชั้น' ล้วนมีสิทธิ์ใช้สอยพื้นที่แห่งนี้ ตามบริบท หน้าที่ของตน





























การจัดระเบียบ จึงเป็นเรื่องน่าใคร่ครวญ ว่า ทำอย่างไร มาตรการรักษาทัศนียภาพนานาประการ จะไม่ก้าวล่วงความเป็น 'พื้นที่สาธารณะ' ที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาช้านาน ดังที่ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอมุมมองในประเด็นดังกล่าว ไว้น่าสนใจไม่น้อย

"ผมมองว่า การจัดระเบียบสนามหลวงเป็นเรื่องที่ดี และควรทำ แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะคำนึงถึงชีวิตคนด้วย บางที เมื่อมีการจัดระเบียบทีไร คนจนก็มักจะเดือดร้อน อย่าลืมครับ ว่าสนามหลวง มีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ยามปรกติ เป็นสวนสาธารณะขายข้าวของ หน้าร้อนก็มีงานแข่งว่าว แข่งตะกร้อ มีอะไรหลายอย่างมาก รวมไปถึงกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าการปราศรัยของพรรคการเมือง หรือการชุมนุมของประชาชนก็แล้วแต่ ผมว่า สนามหลวงเป็นสถานที่ที่คนทุกชนชั้นมาใช้ได้ ไม่ว่างานพระราชพิธีของสำนักพระราชวัง งานของรัฐบาล หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป"
ส่วนความพยายามที่จะย้ายตลาดดอกไม้ จากปากคลองตลาดมาไว้ที่สนามหลวง ดร. ปริญญา ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ก็มีการย้ายตลาดหนังสือ จากสนามหลวงไปไว้ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้สนามหลวงมีพื้นที่สำหรับจัดงานต่างๆ แต่ครั้งนี้ กลับจะนำตลาดดอกไม้มาไว้ที่สนามหลวง เพราะเหตุใด นโยบายจึงสวนทางกับความตั้งใจเดิม กทม. ต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผล
"การย้ายตลาดดอกไม้ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ซึ่งผมยังไม่รู้รายละเอียด ว่าใช้พื้นที่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด หรือใช้พื้นที่ทั้งหมดของสนามหลวง ซึ่งถ้าจะทำเต็มพื้นที่ผมก็คิดว่าคงทำได้ลำบาก เพราะสนามหลวง เปรียบเหมือนกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของประชาชน ตกเย็นๆ เราจะเห็นว่ามีประชาชนเข้ามาปูเสื่อ นั่งพักผ่อนกัน ซึ่งถ้าจะให้มีเฉพาะแค่การขายดอกไม้อย่างเดียว น่าจะมีปัญหาสำหรับคนกรุงเทพที่ต้องการพื้นที่สาธารณะ หรือใช้สนามหลวงสำหรับจัดงานใหญ่ๆ กทม. ก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย

"ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปีพ.ศ. 2534-2535 สนามหลวงก็เคยถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมใหญ่อีกสถานที่หนึ่งของประชาชน จากนั้นมาสนามหลวงก็กลายเป็นสถานที่สำหรับประชาชน มีการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ มีการเรียกร้องประชาธิปไตย มีการกล่าวปราศรัยของพรรคการเมือง ซึ่งผมว่า เหล่านี้แหละ คือบทบาทหน้าที่ของสนามหลวง มันเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานใหญ่ของกรุงเทพ ของประเทศ ไทย รวมไปถึงงานที่ประชาชนจัดขึ้น เพราะฉะนั้นหากจะย้ายปากคลองตลาดมาไว้ที่นี่ ผมมองว่า เราก็จำเป็นต้องกลับไปดูเหตุผลของการย้ายตลาดหนังสือไปไว้ที่จตุจักรด้วย"
"อย่าลืมว่า ท้องสนามหลวงเป็นที่ของคนทุกชนชั้น" ดร. ปริญญา ย้ำทิ้งท้าย
.................
ชีวิตที่เคลื่อนไหว
"กทม. มาแก้ปัญหาตรงนี้ ไม่ถูกจุดหรอก เพราะศูนย์รวมตลาดขายดอกไม้อยู่ที่ปากคลองตลาด หากให้ไปขายที่สนามหลวงมันเหมือนกับการเริ่มต้นใหม่เลยนะ"
นอกจากทัศนะของรองผู้ว่าฯ และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบท้องสนามหลวงในครั้งนี้ คือ อีกเสียงที่มีคุณค่าและควรรับฟัง ดังคำตัดพ้อของ ศิริพร แซ่จึง เจ้าของร้าน 'เจ๊เฮียงดอกไม้สด' ที่บอกไว้ข้างต้น ก่อนย้ำว่าคงไม่มีใครอยากย้ายไปขายดอกไม้ที่สนามหลวงเพราะร้านของพ่อค้าแม่ค้าดอกไม้อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มาเนิ่นนานแล้ว
ไม่ต่างกับ บรรพต จันเก เจ้าของร้านขายดอกกุหลาบ ที่บอกว่าหากย้ายไปจริงเหมือนต้องไปเริ่มต้นใหม่
"ถ้าย้ายไปสนามหลวงเราก็ต้องเริ่มหาลูกค้าใหม่ ถ้าเราอยู่ที่เดิม เรามีลูกค้าประจำเขาก็มาซื้อ มาขายดอกไม้ที่เรา แต่ถ้าย้ายไปที่สนามหลวงเขาจะไปมั้ย ไม่ไปหรอก ผลกระทบที่ว่านี้ไม่ใช่ตัวผมคนเดียว แต่ยังรวมถึงตัวผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก ผู้ปลูกดอกไม้ และผู้ซื้อด้วย ทุกคนจะกระทบหมด กระจายเป็นวงกว้างเลยนะ ที่นี่เป็นตลาดขายดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นที่กำหนดราคาดอกไม้ จึงเป็นเหมือนแหล่งรวมเม็ดเงิน รวมถึงคนรักดอกไม้"
ส่วนเหตุผลที่ทางกทม.บอกว่าหากย้ายแล้วจะช่วยลดการจราจรที่ติดขัด บรรพตคิดว่าไม่เกี่ยวกัน แม้ที่นี่จะมีการจราจรที่ติดบ้าง แต่ก็ติดในบางช่วงไม่ได้ติดตลอดเวลา มันจึงเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ พ่อค้าขายกุหลาบยังแนะแนวทางให้กทม.ว่าถ้าต้องย้ายจริงๆ จะต้องย้ายไปให้หมด ทั้งตลาดดอกไม้ ตลาดผักสด ตลาดผลไม้ เอาไปให้หมดเลยทั้งแผง ไม่ควรให้มีร้านขายดอกไม้อยู่ที่นี่เลย ถ้าเป็นแบบนี้ กทม.ทำได้หรือไม่?
จากตลาดดอกไม้ ลัดเลาะมาฟังเสียงผู้คนที่มีสนามหลวงเป็นที่พักพิงกันบ้าง
สายใจ (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของแผงบุหรี่ หมากฝรั่ง ลูกอม ซึ่งยึดทำเลขายอยู่ที่สนามหลวงมาประมาณ 2 ปี สะท้อนความเห็นว่า หากกทม.มีคำสั่งให้ย้ายไปขายของที่อื่น แล้วให้แม่ค้าปากคลองตลาดมาขายดอกไม้แทน เธอและเพื่อนแม่ค้าร่วมพื้นที่คงไม่มีใครยอม
"มันไม่ยุติธรรมเลย ไล่พวกเราไปแล้วให้แม่ค้ากลุ่มอื่นมาขายแทน จะให้ย้ายไปขายที่ไหนล่ะ บางคนเขาขายของที่สนามหลวงมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสาวเลยก็มี"
เธอแนะว่าควรพูดคุยตกลงกับพ่อค้าแม่ค้าสนามหลวงก่อน หากอยากให้ย้ายจริงควรจัดสถานที่ขายของให้ใหม่ ไม่ใช่ให้ไปหาพื้นที่กันเอาเอง"

ขณะที่ บรรจง (ขอสงวนนามสกุล) ชายวัยกลางคนซึ่งตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อมาใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนที่สนามหลวง แม้จะพอมีที่นาอยู่ที่บ้านเกิด แต่บรรจงก็ไม่อยากทำอาชีพชาวนา เพราะราคาข้าวที่ถูกแสนถูก เขาจึงหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ากทม. บรรจงเก็บของเก่าและขยะในบริเวณสนามหลวงไปจำหน่ายหาเงินเลี้ยงตัวเอง ซึ่งรายได้ไม่แน่นอน ตกอยู่ที่วันละ 100-200 บาท

หากกทม.จะจัดระเบียบสนามหลวง หางานให้เขาทำและส่งกลับบ้าน บรรจงปฏิเสธเสียงแข็ง ว่า

"จะหางานอะไรให้ทำล่ะ? จะมาไล่ให้กลับบ้านเหรอ กลับไปทำงานอะไรล่ะ? ที่เชียงใหม่งานหายากจะตาย อยู่ที่นี่ยังพอหาเงินได้บ้าง คงกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมที่บ้านเกิดไม่ได้แล้วล่ะ อยู่นี่เพื่อนเยอะจะตาย" เขาสำทับอีกว่า หากส่งกลับไปเผชิญชีวิตที่บ้านเกิดก็จะกลับมาอยู่สนามหลวงอีก

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ มะปราง (นามสมมุติ) หญิงสาวที่เดินทางจากจ. ขอนแก่นเพื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ แต่เมื่อไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน เธอจึงลองทำอาชีพหญิงขายบริการที่สนามหลวง ตามคำแนะนำของคนรู้จัก

มะปรางบอกว่า เธอไม่เดือดร้อนหากกทม.จะจัดระเบียบสนามหลวง โดยการเข้มงวดกับหญิงบริการที่มาหากินบริเวณนี้ เพราะยังมีทางหนีทีไล่

"ตำรวจคงไม่เข้มงวดจนไม่สามารถทำงานได้หรอก เขามาไล่ที่ตรงนั้น ก็ย้ายไปบริเวณอื่นได้ ไม่มีปัญหา เพราะบริเวณละแวกสนามหลวงมีที่ให้หากินเยอะแยะ"
มะปรางเชื่อว่า ปัญหาหญิงหรือชายขายบริการบริเวณสนามหลวงไม่มีทางแก้ได้หมด เพราะตอนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก กระจายไปทั่ว จะตามล้างตามจับให้สิ้นซากคงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก





























'ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก'
...คล้ายเสียงของหญิงสาวยังแว่วย้ำซ้ำให้ได้ยิน
ไม่ต่างจากสายตากังขาของประชาชนอีกไม่น้อย ที่มองว่า นโยบายดังกล่าวจะทำได้จริงหรือ? แต่นั่น ย่อมไม่สำคัญเท่ากับคำอธิบายอันชอบธรรม ในการ นำ 'สนามหลวง' อันเปรียบเสมือนสวนสาธารณะของชนทุกชั้น มาปรับโฉมใหม่ ซึ่งไม่ว่ารูปร่างหน้าตาของสนามหลวงจะสวยหอมจรุงใจสักเพียงใด สิ่งสำคัญกว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพนั้น กทม. ต้องไม่ลืม ว่า จะทำอย่างไร ให้ 'ลมหายใจ' และการเคลื่อนไหวของผู้คนที่รายรอบอยู่ท้องสนามหลวง รู้สึกว่าการดำรงอยู่ของพวกเขา ไม่ได้ถูกลิดรอนอย่างไม่เป็นธรรม
เชื่อว่า มาตรการจัดระเบียบสนามหลวง คงไม่จบแบบ 'แฮบปี้ เอนดิ้ง' ในเร็ววัน
...............




ที่มา : http://www.manager.co.th/


ตามติดชีวิตเด็กวังสราญรมย์ ผู้ชายขายตัว
http://www.dekwang.blogspot.com/
Free download clip movies and picture for gay
http://www.free4gay.blogspot.com/
Road Of Gay & Men In Thailand
http://www.roadgay.blogspot.com/

0 comments:

Blog Archive