"ผู้ชายขายตัว" กับลีลาบนพื้นที่ชายขอบ

Thursday, April 3, 2008



...แสงไฟนวลสาดส่องต้องผิวกายยามค่ำคืน บนถนนอันเงียบเหงา ชายหนุ่มเฝ้าชะเง้อมองรถคันแล้วคันเล่า ทอดสายตาภาษากายเร่งเร้าแก่รถที่ชะลอ เปิดไฟเลี้ยวเพื่อต่อรองราคา...ชีวิตของพวกเขายังคงเวียนวนอยู่ในพื้นที่แคบๆ มุมมืดของสังคม ชายเหล่านี้แฝงเร้น ซ่อนกาย อำพรางตัวตนที่แท้จริงในบริบทของสังคมที่ถูกตีตรา กำหนดคุณค่าของความเป็นมนุษย์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์กรมหาชน) "สันต์" สุวัจฉราภินันท์ นักศึกษาปริญญาเอก University of London ได้นำเสนอ วิทยานิพนธ์ในสาขาสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์และทฤษฎีการออกแบบ (Architectural History and Theory) เรื่อง "ที่ว่างของผู้ชายขายตัว" การเมืองเอกลักษณ์ สภาวะการครอบครองเชิงอำนาจ และการต่อรองอำนาจ (Identity Politics, Objectification and Resistance) เพื่อความเข้าใจคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น สันต์ เปิดฉากกล่าวถึงแรงขับดัน ขั้วอำนาจ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นกลุ่มคนที่ตกอยู่ในห่วงของอำนาจ กลายเป็นเหยื่อที่ถูกสังคมมองอย่างตำหนิ สันต์ บอกว่า วิทยานิพนธ์ ของเขาเน้นที่การมองอย่างเข้าใจ และรื้อโครงสร้างความหมายเดิม ที่ครอบคลุมเอาไว้บนความรู้ ความคิด ที่เกี่ยวข้องกับ "เพศสภาพ" และ "เอกลักษณ์" ทางเพศ บทบาททางเพศ และรสนิยมทางเพศ หรือ "อัตลักษณ์" ทางเพศที่สำคัญคือความรู้และความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้บนพื้นที่สาธารณะในเมือง ก่อให้เกิดตัวตนและเอกลักษณ์ถูกสร้างและควบคุม โดยกฎเกณฑ์ข้อกำหนด ก่อให้เกิดการแสดงออก การต่อต้าน กระบวนการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ และการครอบครอง "ที่ว่าง" ใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ สันต์ บอกอีกว่า การเกิดเอกลักษณ์ไม่ได้เกิดแต่แรกหรือติดตัวไปตลอดชีวิต แต่ทว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกสร้าง หรือสวมให้จากสังคม จากคนอื่น หรือแม้แต่กลุ่มผู้ซื้อบริการ เอกลักษณ์ของชายขายตัวที่เราคุ้นเคยคือ การมีพฤติกรรมทางเพศที่คล้ายคลึงกับ "กลุ่มเกย์" คือ มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย และบ่อยครั้งที่ถูกมองและเข้าใจผิดว่าพวกเขาคือ กลุ่มเกย์ ไปด้วย แต่แท้จริงแล้วผู้ชายกลุ่มนี้ อาจใช่หรือไม่ใช่เกย์ก็ได้ "พฤติกรรมทางเพศ ที่ถูกมองว่าเป็นความประพฤติผิดทางเพศ หรือ การมองร่างกายเป็นสินค้า ที่ตอบสนองกามารมณ์มีผลต่อพื้นที่ เมื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งถูกมองและเข้าใจว่า เป็นพื้นที่ทำมาหากิน ก็จะกลายเป็นจุดด่างดำ เป็นมุมมืดที่ผู้คนพยายามหลบหลีก ดังนั้น "ชายขายตัว" จึงเป็นเสมือนผลผลิตที่เกิดจากการใช้พื้นที่ เป็นผลผลิตจากการคัดออก กีดกัน และจำกัดในระบบการให้คุณค่า ตลอดจนความหมายตามกฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกลุ่มคนรักต่างเพศ ถือเป็นคนชายขอบของสังคม" สันต์ ตั้งคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่เคยถูกตรวจสอบ มองเห็นได้ แต่ถูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ที่ว่างของคนกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยคิดและเปิดโอกาสให้ความคิดของเราช้าลง ทำให้เห็นความสัมพันธ์เดิม ในมุมมองใหม่ๆ ที่ว่างของผู้ชายขายตัวจึงเป็นเสมือน เครื่องมือที่พยายามสร้าง หรือก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อความคุ้นเคย เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป ที่เราเชื่อกันอยู่ว่ามีอยู่ดังเดิมตั้งแต่ต้น มีอยู่เพียงระบบเดียว ดังนั้น จึงเป็นมุมมองหนึ่งในการเข้าไปทำความเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่"การซ่อนเร้นจากสายตาที่ถูกจับผิด และแสดงตัวต่อผู้ที่เข้ามาใช้บริการ มีการส่งสัญญาณออกมาอย่างแยบยล โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ การสื่อสารมักถูกส่งออกไป ด้วยภาษากาย อย่างการแต่งกาย กริยาท่าทาง การส่งสายตา ด้วยการมอง การใช้แสงไฟสะท้อนเรือนร่าง หน้าตา กัลยาไมตรี โดยที่ผู้ใช้บริการหรือผู้ซื้อ จะแสดงออกด้วยการชะลอรถ ต่อรองราคา"สันต์อธิบายสันต์ ยังได้เก็บข้อมูลโดยการพูดคุยสำรวจสังเกต โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กรณี คือ กลุ่มที่ขายบริการริมถนน และกลุ่มผู้ขายบริการในสถานบันเทิงซึ่งมักมาในรูปของการแอบแฝง โดยในกรณีแรก พบว่าการจัดระบบของผู้ชายขายบริการมีลักษณะของการทับซ้อนกันอยู่มาก เช่น การจัดระบบจุดยืนขายบริการของหนุ่มหน้าเก่า-ใหม่ ว่าควรยืนอยู่จุดใดบ้าง ซึ่งผู้ขายบริการส่วนใหญ่จะรับรู้ร่วมกันว่า จุดใดเป็นพื้นที่สำหรับนักค้ารุ่นใหม่ หรือพื้นที่สำหรับพ่อค้าผู้ช่ำชอง หรือแบ่งตามบทบาททางเพศ เช่น เป็นผู้รุก ผู้รับ หรือทั้งรุกและรับ หรือรับอย่างเดียว รวมทั้งมีการแบ่งชนชั้นศักดิ์และสิทธิ์ที่เหนือกว่าด้วย สำหรับอัตลักษณ์ของผู้ชายแบบรุก ก็จะมีลักษณะที่แสดงความเป็นชายอย่างโดดเด่นหรือบ่งบอกความเป็นชายทั้งแท่ง สถานที่หรือฉากที่จะเลือกยืนจึงมักเป็นบริเวณที่มีแสงไฟส่องสว่าง เช่น ป้ายรถเมล์ หรือเสาไฟ เพราะกล้าที่จะเปิดเผยมากกว่า และไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมทางเพศของตนเองเป็นเรื่องผิดหรือต้องรู้สึกผิด จึงแสดงความเป็นชายออกมาอย่างเต็มที่ ส่วนกลุ่มที่เป็นฝ่ายรับโดยมากจะเป็นชายไม่เต็มร้อย ดังนั้น มักจะอาศัยฉากหลังเป็นริมถนนในการแสดงบทบาทตนเองออกมา ส่วนกลุ่มรับอย่างเดียวจะค่อนข้างแสดงออกถึงความเป็นสาว ซึ่งส่วนมากจะใช้พื้นที่มืดกว่า เช่น มุมใต้ต้นไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ รถยนต์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสัญลักษณ์ของชนชั้นทางสังคม ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ชาย ส่วนเส้นทางเดินรถมักเป็น 2 เส้นที่ทับซ้อนกันอยู่ ได้แก่ เส้นที่มาจากราชดำเนิน สีลม สนามหลวง สวนสราญรมย์ ถนนสนามไชย ถนนเจริญกรุง และเส้นถนนข้างวัดโพธิ์ พวกเขาจะนั่งรออย่างไม่มีทีท่าว่าจะไปไหน และยืนเป็นจุดๆ ช่วงหัวโค้ง ใต้ บิลบอร์ดโฆษณา ป้ายรถเมล์ ใต้ต้นไม้ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตพื้นที่เหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น สวนลุมพินี มีการจัดไฟที่สว่างมากขึ้น มีเวรยามเข้มงวด ก็จะเกิดการย้ายถิ่นที่ทำกินสำหรับกรณีศึกษาที่ 2 สันต์ ได้เข้าไปสังเกต เก็บข้อมูลจากสถานบริการประเภท บาร์เกย์ ย่านสุรวงศ์ ซึ่งถือเป็นที่จัดแสดงอย่างเต็มที่ ทำให้วิธีการสร้างตัวเองของชายกลุ่มนี้ มีความแตกต่างออกไป สันต์เล่าว่า ที่นี่มีการใช้สีสันจากการจัดไฟ วัสดุ อุปกรณ์สื่อ ให้เห็นถึงเพศสภาพอย่างชัดเจน สันต์ อธิบายด้วยว่า ย่านสุรวงศ์ บอย ทาวน์ เป็นย่านใจกลางธุรกิจที่เต็มไปด้วยสถานเริงรมย์ ซึ่งชายขายตัวเหล่านี้ เกิดจากแรงกระทำของธุรกิจนั่นเอง ซึ่งนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ธุรกิจสถานบริการก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ชายขายตัวเหล่านี้ กลายเป็นเอนเตอร์เทรนเนอร์ เป็นผลผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นพื้นที่ที่ถูกคุ้มครองโดยรัฐ กลายเป็นพื้นที่สีเทาที่คนในสังคมตระหนักรู้ดีอยู่แล้ว "พื้นที่สีเทาจุดนี้มีบรรยากาศแตกต่างจากริมถนนหรือป้ายรถเมล์อย่างชัดเจน คือ มีการจัดแสดงอย่างเป็นสัดส่วน มีทั้งบริเวณเวที การจัดที่นั่งผู้เข้ามาชมโชว์ เพื่อให้ผู้ชายเหล่านี้ได้แสดงความเป็นชายออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้ที่นี่มีกฎ ห้ามนำอุปกรณ์ในการเสริมสวยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นมาสคาร่า แป้งตลับเข้ามา ถ้าจับได้ก็จะย้ายให้ไปอยู่ที่อื่น เป็นบทลงโทษ" ทั้งนี้ จากการสำรวจ 5 บาร์ ดังของสันต์ พบว่า เจ้าของบาร์ส่วนใหญ่มีระบบคิดในการจัดรูปแบบร้านเพื่อกระตุ้นความต้องการ แล้วควักเงินเพื่อให้ลูกค้าให้มากที่สุด โดยการจัดเวทีที่ง่ายต่อการมองเรือนกาย การโชว์ และสร้างความปลอดภัยให้กับลูกค้า มีการใช้แสงสีแดง เพื่อเน้นผิวพรรณให้ผุดผ่อง ดูสดใส และใช้สีม่วงกลบจุดด่างดำของร่างกาย นอกจากนี้ยังเน้นใส่บิกินี่สีขาว เพื่อทำให้สีขาวสะท้อนแสง สร้างจุดเด่น แสงสีเหล่านี้จึงกลายมาเป็นเครื่องสำอาง เป็นแรงกระตุ้น ยั่วยวนอย่างดี "บางครั้งพวกเขาเองก็เกิดความประหม่าในการแสดงบนเวที หนุ่มรายหนึ่งเผยความรู้สึกว่า เขาจะไม่มั่นใจเมื่อแขกหัวเราะคิกคัก และรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี เต้นไม่สวยตรงไหน ดังนั้น เขาจะใช้กระจกซึ่งมักติดอยู่ในสถานบริการโดยรอบเพื่อจ้องมองตัวเอง และหลุดลอยเข้าไปอยู่ในจินตนาการของตัวเอง สันต์ยังบอกด้วยว่า นอกจากนี้แล้วก็จะมีการแบ่งระดับชั้นของสังคมเชื้อชาติด้วย เพราะหากแขกเป็นชาวต่างชาติก็จะได้เงินมากกว่า ซึ่งจุดนี้เองทำให้มีเกย์ซึ่งไม่พอใจกับการตกอยู่ใต้อำนาจเงินของฝรั่ง ทำให้ต้องหลีกหนีออกมา โดยช่วงปี 2515 ย่านสีลมจึงเป็นแหล่งที่ 2 ที่มีที่เที่ยว เป็นบาร์นั่ง แบบไลฟ์สไตล์ สำหรับเกย์เกิดขึ้น กลายเป็น 2 ดินแดนที่ปะทะกันโดยไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารกัน อย่างไรก็ดี ส่วนตัวแล้ว สันต์ มองว่า การขายบริการของชายขายตัวก็เป็นอาชีพหนึ่ง ซึ่งควรจะยอมรับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นที่สำคัญคือการที่เขาเหล่านั้นต้อง "รู้ตัว" รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร และจะมีวิธีป้องกันตนเองจากโรคร้ายอย่างไรบ้าง เพราะเขามีสิทธิในร่างกาย แต่ต้องไม่เกินขอบเขตและสร้างความเดือนร้อนให้แก่สังคม สันต์ ทิ้งท้ายโดยชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ว่า ผลของวิทยานิพนธ์นี้ ไม่ใช่การพิจารณาหรือตัดสินว่า "ชายขายตัว" เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด แต่เป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า "พวกเขาผิด" ก็ไม่ได้หมายความในทางกลับกันว่า "พวกเราถูก" เสมอไป แต่หากพวกเขาผิด ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดต่อไปว่า "ผิดอย่างไร" "อะไรที่ทำให้ผิด" ก่อนที่จะตัดสินใจลงไปว่าอะไรผิดอะไรถูก "ที่ว่างของผู้ชายขายตัว" จึงเป็นเสมือนเครื่องมือเข้าไปตรวจสอบกระบวนการพิจารณา หรือการให้คุณค่าว่า สิ่งใดที่ถูก สิ่งใดที่ไม่ดี มันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเป็นเพียงการพยายามสร้างสถานการณ์ที่ทำให้คู่ตรงข้ามผิด เพื่อเราจะเป็นฝ่ายถูกเสมอไป สิ่งสำคัญที่อยากให้เกิดขึ้น คือ การเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้นเละคงคุณค่าของความเป็นมนุษย์...
แหล่งข้อมูล:
ผู้จัดการ 11 ตค. 48

11 ตุลาคม 2548 09:27 น.

0 comments:

Blog Archive