ชายขายตัว" ถูกตีตราเป็นสินค้าผิดจารีต เพราะสังคมตั้งค่าว่าชายต้องรักหญิง

Thursday, April 3, 2008


ดึกแล้ว พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะสราญรมย์ สะพานหัวช้างโรงสี กระทรวงมหาดไทย ชายหนุ่มหลายคนแต่งตัวดียังนั่ง ยืน อยู่บริเวณป้ายรถเมล์ มองผ่านอาจคิดว่าเขาคงกำลังรอคอยรถประจำทาง แต่รถเมล์ผ่านไปคันแล้วคันเล่า พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นรถเมล์แต่ประการใด ทำให้มั่นใจว่า "พวกเขา" เหล่านั้น คงมีจุดประสงค์อื่นที่ไม่บอกก็รู้ "จำหน่ายบริการ"!!!

ขณะที่โลกกำลังหมุนสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ความเท่าเทียมกันในความเป็น "มนุษย์" เป็นสิ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปรากฏการณ์ "ชายเป็นใหญ่" "คนดำถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม" "คนผอมเท่านั้นถึงจะสวย" ก็ยังคงเป็นทัศนคติและค่านิยมที่ "สังคมส่วนใหญ่" ฟันธงว่า "ถูกต้อง"
เช่นเดียวกับ กลุ่ม "ชายผู้ค้า" ข้างต้น ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังถูกคนทั่วไป "ผลักไส" ให้ไปอยู่ชายขอบและ "ตีตรา" ว่า บุคคลกลุ่มนี้เป็นพวก "ผิดจารีต"อาจารย์สันต์ สุวัจฉราภินันท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เกิดคำถามต่อทัศนคติต่างๆ ข้างต้นว่า แท้จริงแล้วความคิด "พวกฉัน" เท่านั้น "ถูก" เกิดขึ้นได้อย่างไร และความเป็น "พวกฉัน พวกแก" ส่งผลต่อคนในสังคมอย่างไร และสิ่งที่ถูกกำหนดว่า "ถูกต้อง" หรือ "ผิด" เป็นไปตามนั้นจริงๆ หรือไม่ วิทยานิพนธ์หัวข้อ "ที่ว่างของผู้ชายขายตัว" จึงเกิดขึ้นเจ้าของวิทยานิพนธ์บอกว่า เขาเลือกศึกษากลุ่มชายขายตัว เป็นกรณีศึกษาหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพของ "โครงสร้างเชิงอำนาจ" ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ถูกกระทำจากผู้มีอำนาจทั้งจากสังคมและจากผู้ซื้อบริการที่เห็น "พวกเขา" เป็นเพียงสินค้าชิ้นหนึ่งเท่านั้น โดยเลือกเก็บข้อมูลบริเวณสวนสราญย์รมย์และผับย่านสุรวงศ์"การศึกษาค้นพบว่า รหัสที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนผิด คือ บรรทัดฐานของแนวความคิดการรักต่างเพศ ชายต้องรักหญิงเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ส่งผลให้คนรักเพศเดียวกันถูกสังคม "กล่าวหา" ว่า คุณทำสิ่งผิดทำนองคลองธรรมหรือผิดประเพณี ไม่ได้การยอมรับจากคนในสังคม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ทุกคนไม่รู้หรอกว่าบรรทัดฐานนั้นมันผิดหรือถูก เพียงแค่พ่อแม่ คนรอบข้างบอกต่อกันมา"เมื่อกลุ่มชายขายตัวถูกกระทำให้เป็นเพียงสินค้าและไม่ได้ยอมรับในสังคม ในงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า พวกเขาจะใช้วิธีแสดงออกเพื่อให้เกิดการยอมรับจากตัวเอง เช่น กลุ่มที่อยู่ในผับ เมื่ออยู่บนเวทีจะใช้วิธีมองที่กระจกที่ติดอยู่รอบด้าน เพื่อเบนความสนใจไม่ต้องพบกับสายตาที่จับจ้องเขา ขณะที่กลุ่มชายบริเวณสวนสราญรมย์จะใช้วิธีแอบหลบซ่อนตามสุมทุมพุ่มไม้ หรือเลือกนั่งที่ป้ายรถเมล์ให้ไฟสปอตไลท์จากป้ายโฆษณาอยู่ด้านหลังทำให้ใบหน้ามืด เป็นต้น จากการลงพื้นที่เข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มผู้ชายขายตัว อาจารย์สันต์พบว่า สิ่งที่พวกเขาพยายามต่อสู้และเรียกร้องสังคมมากที่สุด คือ "ความมีตัวตน" ที่เขาสามารถยืนอยู่บนพื้นที่ในสังคม ซึ่งหมายถึงต้องมีกระบวนการปกป้องดูแล ทั้งในเรื่องการศึกษาที่เพียงพอ หรือการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้ กลุ่มชายขายตัวเริ่มรวมตัวกันเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจารย์สันต์ย้ำว่า การศึกษาของเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนให้อาชีพชายขายบริการดำรงอยู่ต่อไป หรือเรียกร้องสิทธิแทนชายขายตัวเหล่านี้ เขาเพียงต้องการให้สังคมมองกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าการบอกให้สังคมกลุ่มใหญ่ยอมรับจะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไม่มองว่าพวกเขา "เป็นปัญหา" ความเข้าใจคงจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักไม่ปฏิเสธว่าแม้ทัศนคติบางอย่างที่สังคม "กลุ่มใหญ่" คิดได้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมไปแล้ว แต่คงจะดีไม่น้อยหากเราเข้าใจคนที่ไม่ได้ยึดบรรทัดฐานเดียวกัน เพราะนั่นไม่ได้กำหนดว่าเราถูก หรือเขาผิด
แหล่งข้อมูล:
มติชน 20 ตค. 48

20 ตุลาคม 2548 11:45 น.

0 comments:

Blog Archive