หัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา .. แล้วคุณจะได้คำตอบ จากคำถามของคุณ

Wednesday, September 3, 2008

วันก่อนผมได้มีโอกาสพาเจ้าแบงค์น้องชาย ซึ่งเป็นลูกของเพื่อนแม่ และพี่สาวของเขาก็เป็นเพื่อนสนิทกับผมตั้งแต่เด็ก เรียกได้ว่าตั้งแต่รุ่นแม่ยันรุ่นลูก ตั้งแต่เด็กผมก็ไปมาหาสู่ ไปนั่งเล่น กินข้าว กินปลาที่บ้านเขาอยู่เป็นประจำ ปัจจุบันเจ้าแบงค์เรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย และก็เป็นโรงเรียนผู้ชายล้วน น้องชายผมเป็นมีลักษณะนิสัยเก็บกดเล็ก ๆ เขาค่อยข้างมุ่งมั่นที่จะทำความฝันของเขาให้เป็นจริง ฝันของเขาอยากเป็นคุณหมอรักษาคนไข้ครับ

อย่าพึ่งสงสัยว่า ผมเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟัง คือวันก่อนผมพาเจ้าแบงค์ไปทานสุกี้ แล้วแบงค์เอ่ยปากถามผมเกี่ยวกับพฤติกรรมของเพื่อนเขาที่รู้จัก และคบหากันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แบงค์เล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนก็เห็น มันไม่ชอบพวกกะเทยน่ะ แต่พอขึ้นม.5 อยู่ๆ มันเดินควงแขนออกหน้าออกตา" น้ำเสียงของน้องชายผมไม่ต้องให้ใครนำสืบเลย ฉุนเฉียว เคือง ๆ ปนๆกัน ผมรู้สึกสะอึก ไม่ใช่เพราะเป็ดย่างที่แสนอร่อยมันติดคอน่ะครับ แต่กำลังตั้งหลักกับคำถามที่น้องชายเอ่ยขึ้น "พี่เต็กรู้ไหม.. แบงค์อยากเดินเข้าไปถามมันว่ามึงชอบผู้ชายหรือวะ" แล้วผมก็ย้อนถามน้องชายผมว่า "แล้วแบงค์ถามเขาหรือเปล่าล่ะ ?" แบงค์ตอบทันควัน "เปล่า.... เพื่อนแบงค์อีกคนชิงถามก่อน.. แล้วมันก็ไม่ตอบด้วยน่ะ ทำหน้าไม่พอใจ เหมือนรำคาญว่ามาถามกูทำไม อะไรทำนองเนี้ย"

พอเป็ดย่างจานเล็ก กับบะหมี่หยกเริ่มหมดไม่มีอะไรจะกินต่อแล้ว ผมได้จังหวะเลยตั้งคำถามกลับบ้าง "แล้วทำไมแบงค์ถึงชอบน้องพาวล่ะ" แบงค์บอกว่า "เพราะธรรมชาติสร้างให้หญิงกับชายคู่กัน" ผมถามต่อไปว่ามีเหตุผลอื่นอีกไหม ? เช่น ผู้หญิงสวย น่ารัก อะไรทำนองนี้ เจ้าแบงค์พยักหน้าสอง สามครั้ง พร้อมกับเอ่ยว่า "มีส่วน เป็นปัจจัยเสริม" ผมขำกับท่าทางของเขา และผมถามต่อไปว่ามีอะไรอีกไหม ไหนลองพูดมาสิ แบงค์บอกว่า "ผู้หญิงมีเสน่ห์.. มั่ง" ผมถามย้ำเป็นครั้งสุดท้าย "แบงค์ตอบหมดแล้วใช่ไหม... เหตุผลที่เราบอกพี่ว่าเพราะอะไรเราถึงชอบพาว"

เจ้าแบงค์ตอบด้วยสีหน้างงๆ เล็กน้อย.. "หมดแล้วพี่เต็ก ทำไมเหรอ" มันยิ่งทำให้ผมขำเข้าไปใหญ่ ผมบอกกับน้องชายผมว่า สิ่งที่เขาตอบมาทั้งหมดนั้น ก็เป็นคำตอบของคำถามที่เขาจะไปถามเพื่อนของเขาไง... แรก ๆ น้องชายผมก็สับสนครับ แล้วผมก็ค่อย ๆ อธิบายเป็นเรื่อง ๆ

เรื่องรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientaion) มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากน้องผม หรือคุณ หรือผม วันนี้ชอบผู้หญิง พรุ่งนี้จะหันชอบผู้ชาย ผมก็มองว่ามันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ผมรู้สึกประทับใจกับประโยคนี้ ที่วิทยากรของคอนเซอร์เทียมกล่าวอยู่ตลอดระยะเวลาที่มีอบรมหลักสูตรว่า "เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร และไม่จำเป็นต้องจัดตัวอยู่กับกลุ่มใครทั้งสิ้น เราสามารถอยู่ในจุดยืนของตนเองได้อย่างปลอดภัย และสุขภาพทางเพศที่ดีก็พอ"

คนส่วนใหญ่ในสังคมส่วนใหญ่มักจะมอง และตัดสินทุกสินทุกอย่างจากมุมมองของตนเองเป็นฐาน หากใครไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเป็น พวกนั้นคือ "ผิดปกติ" แต่ที่ว่าเขาผิดปรกตินั้น "จริงเหรอ" ใครเป็นคนตัดสินครับว่าใครผิดปรกติ/ใครปรกติ ผมด้อยปัญญาที่จะตอบคำถามโลกแตกนี้

เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ใครๆ หลายๆ คนบอกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่สามารถเรียนได้ด้วยตนเองเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม และการสอนกันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งเพียงพอแล้ว และทำให้เยาวชนรู้เท่าทันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) และโรคเอดส์

จากประสบการณ์ที่เคยเป็นครูในระดับมัยธมศึกษามาก่อน ผมเห็นเพียงว่าจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ การแจกสื่อแผ่นพับ และการจัดกิจกรรมให้เล่นละครว่าโรคเอดส์ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง เราทุกคนไม่ควรรังเกียจผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยเอดส์เท่านั้น ผมยังไม่เคยเห็นใครสอนว่าก่อนออกศึก พวกเราต้องรู้จักป้องกันตัวจริง ๆ ต้องซ้อมรบก่อน (ท่านผู้อ่านอย่าตกใจกับคำว่าซ้อมรบของผมน่ะครับ ในความหมายของคำว่าซ้อมรบ หมายถึง การฝึกสวมถุงยางอนามัยที่ถูกวิธี)

บ่อย ๆ ครั้ง ผมมักขนถุงยางอนามัยมาแจกเด็กแถวบ้าน แล้วบอกพวกเขาว่า ฝึกใส่ถุงยางก่อน เผื่อเวลาจะออกรบ หรือมีเพศสัมพันธ์จะได้ไม่รู้สึกรำคาญ หรืออัดอัด เพราะเท่าที่ฟังจากเด็ก ๆ ในระแหวกบ้านใกล้เรือนเคือง ซึ่งเป็นเด็กระดับมัธยมยังคงใช้ถุงยางอนามัยไม่ค่อยคล่อง และพอเวลามีเพศสัมพันธ์ก็รู้สึกรำคาญ จากนั้นก็ไม่ยอมสวมถุงยาง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ บางคนก็อายที่จะไปซื้อถุงยางอนามัยที่ เซเว่นอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเยาวชนในยุคโลกาภิวัตน์เลย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร

เสียงสะท้อนเหล่านี้ มันทำให้เหล่าคนทำงานด้านเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ น่าจะรู้สึกตื่นตัวมากยิ่งขึ้น การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคเอดส์เพียงพอ และถูกต้อง เข้าเป้าหมายหรือเปล่า ? รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้แก่เยาวชน

การสร้างความเข้าใจในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ อาจลดช่องว่างระหว่างความไม่เข้าใจกันในเรื่องเพศวิถี (Sexuality) ในกลุ่มเพื่อน ๆ ของนักเรียนด้วยกันได้บ้างไม่มากก็น้อย "ทุกคำถามที่ผมเอ่ยมาข้างต้น มันแฝงนัยสำคัญ... ซึ่งที่แอบแฝงอยู่อย่างเด่นชัด การแบ่งเขา แบ่งเรา การตีตรา และดูหมิ่นเพศวิถีที่แตกต่างจากเรา "

ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสุขภาพทางเพศของเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ ความเป็นไปได้ดังกล่าวอาจทำให้เยาวชนไทยในยุคโลกาภิวัตน์ได้เข้าใจมุมเรื่องเพศที่กว้างยิ่งขึ้นกว่านี้

ธเนศว์ กาญธีรานนท์

ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

0 comments:

Blog Archive