ความหลากหลายทางเพศกับหนุ่มอังกฤษคนนั้น

Sunday, December 7, 2008


น้อยคนนักจะรู้จักบุรุษชาวอังกฤษผู้นี้ กระทั่งคนอังกฤษเองในปัจจุบันนี้ก็เถอะ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ “ปีเตอร์ ไวล์ดบลัด” (Peter Wildeblood) คงเป็นชายชราวัย 85 ที่มีความสุขที่สุดในโลก
เขาเป็นผู้ชายคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนของเมืองผู้ดีก็ว่าได้ที่ “เลิกแอบ” ต่อหน้าสาธารณชน เขาเป็นคนที่ถูกคนรักทรยศ แต่กลับยืนขึ้นเชิดหน้า และใช้ชีวิตที่เหลืออย่างกล้าหาญสง่างาม ปีเตอร์ ไวล์ดบลัด คือ “โฮโมเซ็กช่วล” แห่งเกาะอังกฤษที่ชีวิตเปิดเผยของเขากลายเป็นใบเบิกทาง ช่วยให้อีกหลายๆ ชีวิตผ่านพ้นคุกตารางด้วยข้อหารักเพศเดียวกัน
ราวทศวรรษที่ 1950 ในประเทศนี้ ชายสองคนจะมีเซ็กซ์กันไม่ได้ และถ้าโดนตำรวจจับ จะต้องไปขึ้นศาล ยืนให้การ ตอบคำถามต่างๆ นานา รวมไปถึง “ทำอะไรกันบ้างบนเตียง” และส่วนใหญ่มักจะไม่รอด ต้องเข้าไปนอนในคุก ปีเตอร์ ไวล์ดบลัด ก็เป็นคนหนึ่งในนั้น
ปีเตอร์ (ภาพจากหนังด้านบน คนที่สองจากหน้าจอ) ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มที่กำลังรุ่งแห่งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ตอนโดนตำรวจจับ พ่อกับแม่ภูมิใจมากในตัวเขา เพื่อนๆ ที่ทำงานต่างรักเขา และเชื่อในฝีมือ หัวหน้างานชื่นชมความสามารถของเขา ทุกๆ คนช็อคที่รู้ความจริง
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก จริงๆ แล้ว เขาเกิดที่อิตาลี แต่ย้ายมาอยู่ลอนดอนตอนอายุสามขวบ ช่วงเรียนหนังสือก็ได้ทุนเรียนดีตลอด ได้ไปเรียนต่อที่อ็อกฟอร์ด แต่โชคร้าย หนุ่มน้อยเกิดป่วยหนัก จนต้องขอลาเรียนชั่วคราวหลังจากเปิดเรียนไปแค่ 11 วัน พอหายป่วยดีแล้ว เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเลยไปเป็นนักบิน ด้วยเหตุที่เขาขับเครื่องบินไม่เก่ง หรืออาจจะมีสาเหตุอื่น เลยโดนย้ายมาประจำการในตำแหน่งเล็กๆ ภาคพื้นดิน กระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดลง
ปีเตอร์กลับไปเรียนต่อที่อ็อกฟอร์ดสองปี ขณะที่ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากสงคราม จบอ็อกฟอร์ดแล้ว ก็พยายามหางานทำ แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เลยไปเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร
ช่วงเวลาว่าง เขาหมั่นเพียรเขียนบทความ เขียนเรื่องราวส่งนิตยสาร รวมถึงเขียนบทละคร ต่อมาเขาได้ทำงานกับเดลิเมล์ เริ่มต้นด้วยรายงานข่าวซุบซิบต่างๆ ตรงจุดนั้นเอง เขาได้พบกับคนดังประจำวงการไฮโซของอังกฤษที่ชื่อว่า “ลอร์ด ม็องตะกู” (Lord Montagu)
ปีเตอร์ได้รับมอบหมายให้รายงานข่าวเกี่ยวกับงานราชพิธีหลังจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระราชบิดาของควีนอลิซาเบธ องค์ปัจจุบัน) เสด็จสวรรคต ในปี 1953 เขาได้รับการโปรโมทเป็นว่าที่ผู้สื่อข่าวสายการต่างประเทศ
ในหนังสารคดี-ดราม่าเรื่องดังเรื่องหนึ่งทางทีวีของบีบีซี ออกฉายในปี 2007 ถ้าคุณผู้อ่านได้เห็นเหตุการณ์ในนั้น จะต้องถามตัวเองว่า อะไรวะ! นอนอยู่กับแฟนบนเตียงดีๆ ก็จะมีตำรวจมาเคาะประตูบ้าน แล้วลากออกไปจากเตียง ส่งฟ้อง ขึ้นศาล แล้วก็โดนจับยัดเข้าคุก นี่มันเรื่องจริงเหรอเนี่ย?
ก่อนนั่งดูหนังเรื่องนี้ ผมก็ได้แค่อ่าน และรับรู้ตามหนังสือ ตามข่าว เห็นบ้างบางฉากในหนัง หรือสารคดีที่พูดถึงการกวาดล้างและกำจัด โฮโมเซ็กช่วลออกไปในสังคม ไม่ว่าจะด้วยการเอากฎหมายและกฎหมู่เข้าบังคับ แต่ไม่เคยรู้สึก แต่พอมาดูหนังทีวีเรื่องนี้ คงไม่ใช่เพราะนักแสดงที่รับบท ปีเตอร์ ไวล์ดบลัด (Marin Hutson) ที่หล่อน่ารักหรอก เป็นเพราะเนื้อเรื่อง การนำเสนอภาพ ตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ในชีวิตของปีเตอร์ กับการประชุมของคณะกรรมการที่ทำเรื่องเสนอให้แก้กฎหมาย มันสะเทือนใจมากๆ
ในยุค 1950 คนเป็นโฮโมเซ็กช่วล ในอังกฤษต้องหลบๆ ซ่อนๆ (สมัยนั้นยังไม่ได้เรียกว่า เกย์) มีผับ มีที่เที่ยว มีคลับส่วนตัว มีการสื่อภาษาที่รู้กันเฉพาะในหมู่ แต่จะเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในโลกใต้ดิน ซึ่งบางคนก็สนุกสนานไปกับชีวิตแบบนี้ มีความเป็นส่วนตัวดี แต่ขณะเดียวกัน ต้องถามว่า แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร จะรักใครชอบใคร ต้องคอยปิดบังไว้ และลึกๆ ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนความหวาดกลัว โดยเฉพาะกลัวกฎหมายบ้านเมืองที่บอกว่า การมีเซ็กซ์ระหว่างเพศเดียวกัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย น่าแปลกนะครับ ในยุคนี้ หลายๆ ประเทศ อย่างบ้านเรา ไม่มีกฎหมายกดขี่มนุษย์แบบนั้น แต่เราหลายๆ คนก็ยังคงต้องขังตัวเองอยู่
สำหรับปีเตอร์แล้ว ถึงแม้เขาจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ชีวิตส่วนตัวของเขา กลับอ้างว้างเดียวดาย วันหนึ่ง เขาไปพบกับหนุ่มหล่อคนหนึ่งที่สถานีรถไฟ “เอ็ดเวิร์ด” ทำงานรับราชการอยู่ ทั้งสองปิ๊งทันที เหมือน “หากันจนเจอ” ปีเตอร์ก็เลยชวนเอ็ดเวิร์ดไปพักที่บ้านซะเลย
ความจริงก็เสี่ยงนะครับ ใครจะรู้ เอ็ดเวิร์ดอาจเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบปลอมตัวมาก็ได้ มุกนี้ในยุคนั้นใช้บ่อยเพื่อ “กวาดล้างเหล่าโฮโม” บางครั้ง ในห้องน้ำแหล่งที่มีการรายงานเป็นประจำว่า มีการปฏิบัติกิจ ตำรวจก็จะแกล้งให้ท่า พอได้ที ก็เข้าแสดงตัว ล็อคขึ้นโรงพักเลย
นึกไม่ออกเลยละครับว่า ถ้าตำรวจปฏิบัติการอย่างนี้ในเมืองไทย เกย์ไทยจะเป็นยังไง แล้วเกย์ไทยในห้องน้ำต่างๆ จะเป็นยังไง ย่านไหนในกทม น่าจะเดือดร้อนที่สุด คงไม่ต้องบอก คนนะครับ ไม่ใช่ “วัวควาย” ต้องไปตามจับ แล้วลากออกมา
ความสัมพันธ์ของปีเตอร์กับเอ็ดเวิร์ดงอกงามขึ้น เขาแสดงความรักต่อกันอย่างหวานซึ้ง เขียนจดหมายให้กัน ฟังแล้วแทบละลาย เอ็ดเวิร์ด เดินทางไปกลับ และเข้าเมืองตอนช่วงวันหยุดเสมอเพื่อมาค้างอ้างแรมกับปีเตอร์ ต่อมาทัั้งสองได้รับเชิญจากคนดังไฮโซ ลอร์ดม็องตะกู ให้ไปพักผ่อนที่บ้านพักริมทะเล
รัฐเริ่มออกกวาดล้างอย่างหนัก โดยเฉพาะคนในเครื่องแบบ เอ็ดเวิร์ดถูกค้นจดหมาย และถูกสอบสวนในเวลาต่อมา ทั้งที่ก่อนหน้าปีเตอร์บอกให้เขาเผาจดหมายทั้งหมดทิ้ง เอ็ดเวิร์ดถูกขู่บังคับให้บอกรายชื่อคนที่เขารู้ว่าเป็นเกย์ พร้อมทั้่งยินยอมให้การว่า มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน ตำรวจไปบุกค้นบ้านปีเตอร์เพื่อหาหลักฐาน ในที่สุด ก็เจอจดหมายรักที่ปีเตอร์ซ่อนไว้ ปีเตอร์ไม่เคยเผาจดหมายนั่นเช่นกัน
คนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องโดนจับ ตั้งข้อกล่าวหา และขึ้นศาล เป็นที่เรียกกันในยุคนั้นว่า “เดอะ ม็องตะกู เคส” เรียกได้ว่า ดุเด็ดเผ็ดมัน ประชาชนเกาะติดสถานการณ์ทุกขณะ อัยการฝ่ายรัฐพยายามคาดคั้นให้จำเลยพูดความจริง จำเลยก็พยายามบ่ายเบี่ยง เอ็ดเวิร์ดเล่าความจริงทุกอย่าง ต้องบอกว่า คนดูต้องเศร้าไปกับเรื่องราวทั้งหมด ลองคิดดูสิครับ คนที่เราเคยบอกรัก รอคอยให้เขากลับมาหาแทบทุกลมหายใจ ตอนนี้ กำลังจะเอาตัวรอด และกล่าวโทษเราฝ่ายเดียว ในที่สุดปีเตอร์ตัดสินใจพูดความจริง ความจริงที่สั่นสะเทือนประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอังกฤษ “ผมเป็นโฮโมเซ็กช่วล”เขาถูกศาลสั่งจำคุก 18 เดือน
พอออกจากคุก เขาก็เสียงานที่รักไป ส่วนเอ็ดเวิร์ดหายไปไหนก็ไม่รู้ ปีเตอร์ออกมาทำธุรกิจเล็กๆ และได้เริ่มเขียนหนังสือชื่อ “Against the Law” คงเริ่มเขียนตั้งแต่อยู่ในคุก และเป็นหนังสือที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดยุคนั้น
ในช่วงเวลานั้นเองทางการได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมีประธานชื่อ เซอร์จอห์น โวลเฟนเดน (Sir John Wolfenden) เพื่อพิจารณาเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงขายบริการทางเพศ และโฮโมเซ็กช่วล ในหนัง เราจะเห็นท่านเซอร์ เรียกคนโน้น คนนี้มาให้ข้อมูล ทั้งหมด นายทหาร บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคม แต่ในที่สุดคณะกรรมการก็มองหน้ากันแล้วถามกันเองว่า นี่เราจะไม่มีโฮโมเซ็กช่วลหน้าไหนมาให้ข้อมูลเหรอ (จริงๆ แล้วกรรมการชุดนี้รู้สึกกระอักกระอ่วนมาก กระทั่งจะเรียกโสเภณีและโฮโมฯ ก็ไม่ใช้ แต่จะตั้งเป็นอีกชื่อที่รู้กันแทน ภายหลังพบว่า ลูกชายของท่านเซอร์ก็เป็นเกย์)
นึกไปนึกมา คงไม่มีใครกล้ามาให้ข้อมูล เลยเปิดทางว่า งั้นใครมาก็ได้ มาแบบนิรนาม ไม่ต้องเปิดเผยอะไร แต่แล้ว ปีเตอร์ก็ตัดสินใจเป็นคนๆ นั้นเอง แต่เขายืนยันว่า เขาต้องการเปิดเผยตัว และมาให้เห็นตัวเป็นๆ กันเลย ช็อตนี้ละครับ ผมคิดว่า เป็นชัยชนะของปีเตอร์ ไวล์ดบลัดอย่างแท้จริง
หนังสือของเขา เรื่องราวของเขาตอนศาลตัดสินจำคุก และคำให้การของเขาต่อหน้าคณะกรรมการส่งผลให้รัฐหันมามองกฎหมายล้าหลังเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลอย่างจริงจัง และต่อมามีการยกเลิกกฎหมายนี้โดยระบุว่า คนเพศเดียวกันมีเพศสัมพันธ์กันในที่ส่วนตัว สมยอมทั้งสองฝ่าย ไม่ถือว่า ผิดกฎหมายอีกต่อไป
ปีเตอร์เสียชีวิตลงเมื่ออายุ 76 หลังจากเขาย้ายไปเป็นพลเมืองของประเทศแคนาดา และเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในวงการโทรทัศน์ หนังสารคดีกึ่งดราม่าเรื่องราวชีวิตของเขาชื่อ “A Very Britsh Sex Scandal” เป็นหนึ่งในสารคดีและรายการโทรทัศน์หลายเรื่อง เป็นซีรี่ย์ที่สร้างขึ้นพิเศษพูดถึงความเปลี่ยนเชิงสังคม กฎหมายและการใช้ชีวิตของคนรักเพศเดียวกันในอังกฤษ น่าดูมากๆ ครับ

1 comments:

เรียนต่อต่างประเทศ said...

ขอบคุณมาก ๆๆๆ สำหรับข้อมูลค่ะ

Blog Archive