"สนามหลวง-คลองหลอด" ครองแชมป์คนไร้บ้าน

Thursday, January 28, 2010


มพศ.สำรวจตัวเลขคนไร้บ้านในกทม.พบ"สนามหลวง-คลองหลอด" มากที่สุด

มพศ.สำรวจ ตัวเลขคนไร้บ้านในกทม.ปี 53 พบ 1,092 คน สนามหลวงและริมคลองหลอด  พบมากสุด  607 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บของเก่า-รับจ้าง-ขอทาน ชี้ จำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วงอายุน้อยลง  เสนอรัฐ สร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ในจุดต่างๆที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี   เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)   กล่าวถึงผลสำรวจสภาพปัญหาและจำนวนคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย(มพศ.) ในโครงการการศึกษาแนวทางช่วยเหลือบุคคลไร้ที่อยู่อาศัย ตามมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  กรณีการจัดศูนย์พักคนไร้บ้าน สนับสนุนโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  

นางสาวนพ พรรณ กล่าวว่า ได้ทำการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม 2553  โดยการลงพื้นที่ตามจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 22.00- 02-00 น. เพื่อรวบรวมจำนวนคนไร้บ้าน และนำไปวิเคราะห์สาเหตุ และการดำรงชีวิตของคนไร้บ้าน รวมทั้งศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาของคนไร้บ้านเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้จากการสำรวจตามจุดใหญ่ๆในกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านลานคนเมืองและรอบๆ พบคนไร้บ้าน จำนวน8 คน  ย่านกษัตริย์ศึก บางรักและราชเทวี จำนวน 34 คน  ย่านหัวลำโพง  42 คน  เยาวราช 52 คน สวนลุมพินี   27 คน สนามหลวงและริมคลองหลอด 

พบจำนวนมากสุดคือ  607 คน  ย่านถนนราชดำเนิน 2 ฝั่งและถนนบางลำพู  23 คน รอบหมอชิต จตุจักร สะพานควาย และพระรามหก 18 คน  ย่านสถานีรถไฟสามเสน 17 คน สถานีรถไฟบางซื่อ  17 คน  วงเวียนใหญ่  7 คน  สะพานพุทธฝั่งพระนคร  32 คน สะพานพุทธฝั่งธนบุรี 27 คน  สถานีรถขนส่งหมอชิต  80 คน   รังสิต  18 คน  ท่าน้ำนนทบุรี  20 คน ศูนย์คนไร้บ้านหมอชิต 19 คน ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย 33 คน ศูนย์คนไร้บ้านตลิ่งชัน 11 คน  รวมทั้งสิ้นจำนวน  1,092  คน มีอายุตั้งแต่ 1 ปีถึง 60 ปี แบ่งเป็นเพศชาย  923  คน  เพศ หญิง   140 คน  เด็ก  29 คน  มี 21 ครอบครัว   ส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บของเก่า ค้าขาย รับจ้างขอทาน มีทั้งแบบอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวและอยู่คนเดียว

"การเก็บข้อมูลใน ครั้งนี้ มีความละเอียดมาก เพราะได้ลงพื้นที่ในทุกจุดที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และยังได้ดำเนินการในช่วงกลางคืน คือตั้งแต่ 22.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งจะได้ตัวเลขที่นิ่ง เพราะเป็นช่วงที่คนไร้บ้าน พักผ่อน หลับนอน ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ นอกจากจะรู้จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯแล้ว มูลนิธิฯจะดำเนินการทำข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อสังเคราะห์รูปแบบ การแก้ปัญหาคนไร้บ้านเพื่อศึกษาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กระบวนการจัดการ ที่เหมาะสมกับคนไร้บ้านเพื่อ เสนอแนะเชิงนโยบาย ที่เหมาะสมในการช่วยเหลือบุคคลไร้บ้านต่อไป"เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่ อาศัย กล่าว

นางสาวนพพรรณ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขจำนวนคนไร้บ้านที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำรวจเมื่อปี 2544 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านที่สำรวจได้จำนวน 630 คน แต่ในครั้งนั้นประมาณการว่าตัวเลขแท้จริงน่าจะอยู่ที่ 1,500 คน   ดังนั้นจากผลสำรวจในครั้งนี้ อาจสรุปได้เบื้องต้นว่า ปัจจุบันคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วงวัยของการมาเร่ร่อน ไร้บ้าน ก็มีอายุน้อยลง  ซึ่งการแก้ปัญหา รัฐบาลควรผลักดันให้เกิดการสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ให้เกิดขึ้นในจุดต่างๆ ที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ โดยเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายนำที่ดินของรัฐมาจัดสร้างศูนย์ฯต่อไป.-

0 comments:

Blog Archive