ทฤษฎี “เกย์ 6 ขั้น” มองเกย์ให้ทะลุ

Thursday, October 16, 2008




“แอบจิต” “สว่างจิต” “สลัวจิต” เป็นคำเรียกที่ “อาจารย์เสรี” ใช้จัดระดับการยอมรับ หรือเปิดเผยตัวเองในหมู่มนุษย์สีรุ้ง ใครแอ๊บมากๆ ก็จะถูกเหยียบย่ำซ้ำเติมและโดนตราหน้าอีกทีว่า “อีแอบ” แปลก…คำนี้มักใช้กับชายเกย์ แต่ไม่ค่อยใช้สำหรับหญิงเลสเบี้ยนที่ยังต้องแอบ ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมไม่น้อย


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงไม่มีใครชอบใจหรือยืดอกยิ้มรับหรอก หากโดนจิกแล้วเรียกเป็นอ้าย-อี จริงมั๊ย? แต่ถ้าใครยังเพลิดเพลินกับการเล่นซ่อนแอบอยู่ตามซอกหลืบ หรือในใจเค้าเอง ก็คงต้องปล่อยเค้าไป สำหรับคุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้อยู่ ผมเชื่อว่า คงไม่เพลินแล้วล่ะ….ใช้ชีวิตในมุมมืดน่ะ มันเหงานะคุณ


เมื่อหลายปีมาแล้ว นักจิตวิทยาและนักบำบัดด้านเพศคนดังท่านหนึ่งชื่อ Dr. Vivienne Cass ได้สร้างแบบ “จำลองหกขั้น” ขึ้นมา ผู้คนเรียกสั้นๆ ว่า “Cass Model” เพื่อใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของคนๆ หนึ่งในการ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธตัวเอง” ว่า ฉันเป็นคนรักเพศเดียวกัน


โมเดลนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในปัจจุบันพอสมควรว่า เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ของโลกยุคนี้ หรือเปล่าหนอ?


อ่านๆ ดูแล้ว ผมก็ไม่เห็นมันจะโบราณสักเท่าไหร่ ยิ่งลองเอาโมเดลนี้มาย้อนดูตัวเอง เทียบกับผู้คนรอบข้างที่พบเจอ ผมว่า มันก็น่าจะจริงอยู่หลายประเด็น ที่สำคัญคือ อาจเป็นประโยชน์ เวลาสำรวจการปรับตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างถ่องแท้ รวมถึงตัวคุณเองด้วย และมันน่าจะดีนะ สำหรับคุณผู้หญิงที่พยายาม “เข้าใจเค้าคนนั้น” ที่คุณแอบมีใจให้ รับรอง แนวความคิดนี้จะสามารถอธิบายอะไรๆ เพิ่มเติมได้จาก แอบจิต สว่างจิต สลัวจิตที่คุ้นกัน


ในเว็บหลายเว็บ มีคนเกย์ใจดีได้แปล 6 ลำดับขั้นตอนของ “Cass Model” ไว้อย่างสวยทีเดียว ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อและขยายความตามความเข้าใจและตามประสบการณ์ชีวิตเกย์ของผมเองก็แล้วกัน อ้อ! นิดหนึ่ง จากขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ จะเห็นว่า บางคนก็ย่ำอยู่กับที่ บางคนก็ก้าวไปขั้นหนึ่งแล้ว แต่ก็มีเหตุให้ย้อนกลับมายืนอยู่ตรงที่เดิม และเพื่อความรื่นไหลในการอ่าน ขออุปโลกน์ตัวละครชื่อ “เอก” ก็แล้วกัน พอดีสำรวจดูคร่าวๆ หลายปีแล้ว ชื่อเอก เป็นชื่อยอดนิยม ไม่เชื่อลองกดมือถือ แล้วนับดูสิ

1. ขั้น “สับสน” หรือ Identity Confusion“เราเป็นอะไร แปลกๆ หวิวๆ เวลาอยู่ใกล้ไอ้พล มันก็แค่นักบอลโรงเรียน?” “ไม่มีทางหรอก ผมเป็นเกย์ไม่ได้หรอก ก็ยังชอบดูผู้หญิงสวยๆ หุ่นดีๆ อยู่นี่นา” “หรือว่า ผมเป็นไบ?” เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างคำถามในขั้นสับสนของเอก แต่เหล่าเกย์ก็เคยถามตัวเองมาแล้วทั้งนั้น แต่พอถามไปถามมา บางท่านก็หยุดคิด หยุดสำรวจไปเลย สุดท้ายปิดประตูแน่นหนา ประกาศก้องข้าไม่ข้องแวะหรือยุ่งเกี่ยวอะไรๆ ที่เกี่ยวกับเกย์ทั้งสิ้น ส่วนในคนที่รู้สึกสับสนรุนแรงเอามากๆ ไม่ใช่แค่ปิดประตูตายอย่างเดียวนะคุณ เค้าจะออกอาการต่อต้านรุนแรงอีกตะหาก พบเห็นอาการนี้ได้ทั่วไปในเว็บบอร์ด


2. ขั้น “อยากเปรียบเทียบ” หรือ Identity Comparisonในขั้นนี้ เอกเริ่มอยากสำรวจตัวเองมากขึ้น เพราะความรู้สึกอึดอัดมารุมเร้าบั่นทอนคุณภาพชีวิต อย่างนี้ล่ะ เรียกว่า Survivor ตัวจริง เขาจะถามตัวเองบ่อยขึ้น ถามอย่างเดียวไม่พอนะ ยังคอยสอดส่ายสายตาไปรอบๆ ลองเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ เอกเริ่มลองชั่งน้ำหนักด้วยว่า การเป็นเกย์ของตนจะทำให้ “ได้” หรือ “เสีย” อะไรไปบ้าง (เอ…แต่ผมว่า น่าจะมีแต่ได้-ได้ล่ะไม่ว่า)
ในบางกรณี เอกก็นึกอยากจะ “ลอง” เพื่อให้รู้ว่า ตัวเองชอบเพศเดียวกันหรือไม่ อันนี้ ไม่รวมถึงอยากจะรู้ว่า ฉันชอบ “รับ” หรือ “รุก” มากกว่ากัน บุคคลใดที่ตกอยู่ในขั้นนี้มักพบว่า ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริงของตัวเองอยู่ดี แม้เซ็กซ์ที่ผ่านไปเมื่อคืนมันชุ่มฉ่ำหนำใจสักเท่าไร เขาก็ยังเลือกเฉไฉไปว่า คงเป็นชั่ววูบ อารมณ์เปลี่ยวพาไป หรือไม่ก็โทษสุรายาเมานั่นแหละ



3. ขั้น “พอรับได้” หรือ Identity Tolerance นานวันเข้า เอกเริ่มปรับตัว เพราะความสนใจส่วนตัวที่มีมากขึ้น และอาจมีแรงผลักดันมาจาก “เซ็กซ์” หวานครั้งนั้นที่อยากได้อีกสักครั้ง ซึ่งถือว่า สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับด้านบวกนะครับ บัดนี้ปุ่ม “Alert” ของเขาเริ่มทำงานแล้ว เขาเริ่มไม่อยากอยู่คนเดียวอีกแล้ว เขาอยากคุยกับคนอื่นมากขึ้น จากที่คอยหลบซ่อนตาม URL หรือล็อกอินผ่าน MSN ตอนนี้เอกเริ่มอยากไปสีลม ไปเจอเกย์คนอื่นๆ อยากรู้ว่า เขาใช้ชีวิตกันยังไง เอกเริ่มกังวลน้อยลงว่า ตัวเองจะเสียหรือได้อะไร


4. ขั้น “ยอมรับได้” หรือ Identity Acceptance เอาล่ะ หลังจากเกิดปฏิสัมพันธ์กับใครบางคนแล้ว เอกเริ่มรู้สึกตัวว่า การเป็นเกย์ไม่ได้เสียหายอะไร เขาเปิดและขยายโลกทัศน์ของตัวเองมากยิ่งขึ้น เริ่มเบาใจ กังวลใจน้อยลง เพราะได้เห็นเกย์คนอื่นๆ ที่ดูก้อ “ปกติ” ดีนี่นา เขาออกไปเที่ยวบ่อยขึ้น ไปเจอคนที่เป็นเกย์มากขึ้น โจทย์ใหญ่ของเขาตอนนี้ก็คือ เขาจะเอา “โลกเดิม” ในหน้ากากของการเป็นชายรักหญิง มาผนวกกับ ”โลกใหม่” ที่น่าตื่นเต้นของเขาได้ยังไง? เอกเริ่มเปิดเผยความลับกับเพื่อนสนิท และในที่สุดกับเพื่อนบางคนที่ทำงาน แต่กับที่บ้านเรอะ? คงยากส์ หรือไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ เกย์หลายคนวนเวียนอยู่ในขั้นนี้ และพอใจที่จะหยุดอยู่แค่จุดนี้ เกย์เอเชียรวมทั้งไทย อยู่ขึ้นนี้กันเยอะ


5. ขั้นยืดอก (Identity Pride) ถ้าเอก เริ่มขยายกลุ่มเพื่อนของเขาออกไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนไปเรื่อยๆ เริ่มคิดว่า อะไรคือสิทธิ์ และอะไรคือเสียสิทธิ์? เขาจะเริ่มเกิดความรู้สึกเหมือนถูกกระทำ อยากจะต่อสู้ปกป้องตัวเอง ตอนนี้แหละ เขาไม่สนแล้วล่ะว่า โลกใบเดิมที่มีเพื่อนเป็นชายหญิงทั่วไปจะคิดยังไง เขาแคร์อย่างเดียวว่าโลกใหม่ของเขาหรือโลกของเกย์ของเขาจะคิดยังไง คนทั่วไปเลยคิดว่า เกย์ช่างหงุดหงิดกับเรื่องสิทธิ์ และชอบเรียกร้องอะไรนักหนา ก็เพราะเขารู้สึกอย่างเอก นี่แหละ


6. ขั้นอยู่ตัวแล้ว (Identity Synthesis) การค้นหาคำตอบของเอกยังคงดำเนินต่อไป แต่เขาก็ “เติบโต” ทางความคิดมากขึ้น เขารู้สึกว่า เขาไม่จำเป็นต้องแบ่งโลกออกเป็น โลกเกย์ และโลกไม่เกย์ แล้วต้องคอยเลือกว่าจะบริหารจัดการโลกทั้งสองอย่างไร หรือทำอย่างไรให้โลกทั้งสองอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข ภายในตัวของเขา เขาไม่แบ่งแยกอีกต่อไป ทุกอณูของชีวิตเขากลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวอย่างลงตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นเกย์ หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเขา ต้องบอกว่า มันก็แค่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาที่เขารับมันไว้อย่างเต็มความสุข…เท่านั้นเอง มีคนเรียกว่า เข้าขั้นเทพ…โอ้ว


ต่อไปนี้เวลาคุณคุยกะใคร ลองทบทวนดูว่า เขาอยู่ขั้นไหนกัน คงต้องสื่อสารกันคนละแบบ ที่คุณพบเจอ แล้วปรากฏว่า คุยอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะรู้สึกอีกฝ่ายปกปิด ซ่อนเร้น อำพราง ก็เพราะงี้แหละ เข้าใจกันนะ

0 comments:

Blog Archive